วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

การเพาะเห็ดหอม สร้างรายได้


การเพาะเห็ดหอมจากขี้เลื่อย
การเพาะเห็ดหอมในถุงพลาสติก ในสภาพธรรมชาติได้ประสบความสำเร็จมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ปัจจุบันในการเพาะเห็ดหอมด้วยวิธีเพาะเลียนแบบธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ไม้ก่อ (ไม้ที่ควรสงวนและรักษา) โดยใช้หลักการที่ว่า เห็ดหอมสามารถย่อยเซลลูโลสและลิกนินได้ ขี้เลื่อยจึงเป็นวัสดุเพาะที่ใกล้เคียงที่สุด และช่วยแก้ไขปัญหาการนำไม้ก่อมาใช้เพาะเห็ดหอมได้อีกทางหนึ่ง
ข้อควรทราบ ต้นทุนในการเพาะเห็ดหอม (โดยประมาณ)
เงินลงทุน :  ประมาณ  45,000 บาท  (ทุนหมุนเวียน 25,000 บาท/เห็ด 1  ชุด) รายได้ :  100,000  บาท/เห็ด  1   ชุด

วัสดุอุปกรณ์
1. วัสดุเพาะ ที่ได้ผลดี คือ ขี้เลื่อยไม้มะขามรองมาคือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้กระถินณรงค์หรือขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณหมัก และวัสดุเสริม ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ขี้เลื่อย 100 กก. รำข้าว 5 กก. น้ำตาลทราย 2 กก. ดีเกลือ 0.2 กก. ยิบซั่ม 0.5 กก. ผสมน้ำให้มีความชื้น 55-65%
2. ถุงพลาสติกทนร้อน และอุปกรณ์การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
3. หม้อนึ่งความดัน หรือถังนึ่งไม่อัดความดันพร้อมอุปกรณ์การให้ความร้อนในการนึ่งฆ่าเชื้อ
4. โรงเรือน หรือสถานที่บ่มเส้นใยและให้ผลผลิต

โรงเรือนเพาะเห็ดหอม



โรงเรือน โรงเรือนเพาะเห็ดหอมต้องสะอาด มีการถ่ายเทอากาศสะดวก เก็บความชื้นได้ดี และมีแสงสว่างพอสมควร ถ้าอากาศถ่ายเทไม่สะดวกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมจะทำให้ก้านเห็ดยาวกว่าปกติ ถ้ามืดเกินไปจะทำให้ดอกซีดและก้านดอกยาว โรงเรือนเพาะเห็ดทั่วไปมักจะมุงด้วยใบจากหรือหญ้าคา และใช้ใบจากหรือหญ้าคาเป็นฝาด้วย การใช้ผ้าพลาสติกขึงข้างฝาโรงเรือน จะช่วยให้โรงเรือนเก็บความชื้นได้ดี และป้องกันลมกรณีที่มีลมโกรกแรง การทำหลังคาสูงจะช่วยให้โรงเรือนโปร่งและ
ระบายอากาศได้ดี ควรมีช่องระบายอากาศที่จั่วหรือทำหน้าต่างให้อากาศเข้าได้บ้าง แต่อย่าให้แสงแดดส่องเข้าโดยตรง อาจจะใช้ตาข่ายสีดำพรางแสงได้ กรณีนี้จะช่วยให้มีการระบายอากาศแต่แสงแดดส่องเข้าไม่ถึง ถ้าลมโกรกก็ใช้พลาสติกปิดภายในเป็นครั้งคราว การสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่จะทำให้โรงเรือนเย็นสบายเป็นพิเศษ การทำโรงเรือนเล็กมีฝาผนังติดกันจะทำให้เย็น แต่การระบายอากาศไม่ดี โรงเรือนต้องวางหลังคาในแนวตะวันออกตะวันตก เพื่อแสงแดดจะไม่ส่องเข้าถึงโรงเรือน ตอนกลางคืนวันที่ลมไม่แรง อากาศเย็น สามารถเปิดประตูและหน้าต่างโรงเรือนเพื่อให้อากาศเข้าออกได้ ก้อนเชื้อเห็ดได้รับออกซิเจนเต็มที่

วิธีการเพาะ

1. ผสมวัสดุเพาะและวัสดุเสริมทั้งหมดให้เข้ากันอย่าให้แห้งหรือแฉะ ให้วัสดุพอจับตัวกันได้ เมื่อบีบดูต้องไม่มีหยดน้ำ เมื่อคลายมือออก ส่วนผสมต้องไม่แตกร่อนออกอย่างรวดเร็ว
2. บรรจุส่วนผสมลงในถุงพลาสติกทนร้อน อัดแน่นพอประมาณ ถุงละ 1/2 กก.- 1 กก. ใส่คอขวดปิดจุกสำลี และปิดทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบกันไอน้ำ
3. แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเป็นเวลา 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ด้วยความดัน 15-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (หรือใช้ถังนึ่งไม่อัดความดันก็ได้ผลดีพอควร โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่ไอน้ำเดือดพุ่งตรงสม่ำเสมอ เป็นเวลา2-4 ชั่วโมง ต้องรักษาระดับไอน้ำไว้ตลอดเวลาด้วยการปรับความร้อนให้มีอุณหภูมิภายในถังนึ่ง 85-100 องศาเซลเซียสตลอดเวลา) แล้วทิ้งให้เย็น
4. แกะกระดาษหรือฝาครอบออก เปิดจุกสำลีแล้วใส่เชื้อเห็ด (นิยมใช้หัวเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่าง) ควรทำในบริเวณที่สะอาด ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค แล้วนำไปบ่มเส้นใย
การบ่มเส้นใย
ระยะเวลาที่บ่มเส้นใย 3-4 เดือน ขึ้นกับน้ำหนักอาหารที่ใช้ หรือมีการสร้างตุ่มดอกประมาณ 2/3 ของก้อนเชื้อ
อุณหภูมิ
การบ่มเส้นใยเห็ดหอมที่ดีที่สุดคือที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส การทำห้องหรือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาไม้สำหรับบ่มเส้นใยอย่างง่าย เช่น ทำจากหญ้าคา, จากฟาง, ไม้ไผ่ ฯลฯ ก็ได้ และมีการให้น้ำภายนอกโรงเรือน หรือบริเวณพื้นโรงเรือนเป็นครั้งคราวเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส
ความชื้น
ระยะบ่มเส้นใย ต้องการความชื้นในบรรยากาศในระดับปกติ คือ ประมาณ 50% ไม่ต้องให้น้ำที่ถุงเห็ด ถ้ามีความจำเป็นต้องให้น้ำโรงเรือนต้องระวังมิให้น้ำถูกสำลีที่จุกปากถุง เพราะจะเป็นทางทำให้เกิดเชื้อโรคไป ทำลายเชื้อเห็ดได้
ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการสร้างดอกเห็ดและการเจริญของดอกเห็ด อยู่ระหว่าง 80-90% และ 60-70% ตามลำดับ การผ่านลมเย็นในขณะดอกเห็ดเจริญ จะทำให้หมวกเห็ดแตก คล้ายกับดอกเห็ดหอมที่นำเข้าจากต่างประเทศ
อากาศ
การถ่ายเทอากาศที่ดีจำเป็นต่อการเจริญของดอกเห็ด และทำให้มีการสะสมเชื้อโรคน้อยลง ถ้ามีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะทำให้เห็ดมีก้านยาว บางครั้งหมวดเห็ดอาจจะไม่เจริญหรือมีลักษณะผิดปกติอื่น ๆ แสง
ช่วยกระตุ้นให้เส้นใยเกิดตุ่มเห็ด สร้างแผ่นสีน้ำตาล และเจริญเป็นดอกเห็ดได้เร็วกว่าที่มือและยังช่วยให้หมวดเห็ดมีสีเข้มไม่จางซีด
การแช่น้ำเย็น
หลังจากบ่มเส้นใยสมบูรณ์แล้ว ให้แช่ก้อนเชื้อในน้ำเย็น 2 ชั่วโมง หรือค้างคืนก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก
การให้ผลผลิต
โดยเปิดปากถุงให้ออกดอกทางด้านบนหรือเปลือยก้อนเชื้อโดยแกะถุงพลาสติกออกทั้งหมดให้ก้อนเชื้อสัมผัสอากาศเป็นการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด ถ้าต้องการเห็ดดอกใหญ่ก็เปิดให้มีการเกิดดอกเป็นบางส่วน การเปลือยก้อนเชื้อจะได้ดอกเห็ดจำนวนมากแต่ดอกจะเล็ก และอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือถูกกระทบจากสภาพแวดล้อมได้ง่าย ผลผลิตดอกเห็ดสดจะได้ 50-400 กรัมต่อก้อนเชื้อ 1/2 - 1 กก. ขึ้นกับความใส่ใจและเทคนิควิธีการของผู้เพาะเห็ด
การเก็บผลผลิต และ การทำแห้ง
ในการเก็บผลผลิตนั้น ควรเก็บดอกเห็ดขณะที่หมวกเห็ดยังไม่บานเต็มที่ หรือขอบหมวกยังงุ้มอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะที่ตลาดต้องการ และอย่าได้ส่วนของดอกเห็ดเหลือติดอยู่ที่ก้อนเชื้อ จะทำให้เน่าเสียและเกิดโรค ในขณะที่เก็บผลผลิตถ้ามีการให้น้ำที่ดอกเห็ดมากเกินไปจะทำให้ดอกเห็ดเน่าเสียง่าย ถ้าไม่มีการให้น้ำดอกเห็ดเมื่อเก็บดอกเห็ดแล้วใส่ถุงพลาสติกไว้จะสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 3-4 สัปดาห์

การทำแห้งเห็ดหอม ทำได้ 2 วิธี
1.การตากแห้
โดยตากแดด จนกว่าดอกเห็ดจะแห้งสนิท ควรหลีกเลี่ยงตากแดดจัดมากเกินไป เพราะจะทำให้ดอกเห็ดไหม้เกรียมและควรคว่ำดอกเห็ดให้ครีบอยู่ด้านใต้ เพื่อป้องกันครีบสีคล้ำ การตากแดดเป็นวิธีลดความชื้นในดอกเห็ดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ดอกเห็ดยุบตัวมากเมื่อดอกเห็ดแห้งสนิทดีแล้ว เก็บในภาชนะที่กันความชื้น มิฉะนั้นอาจจะมีเชื้อราเกิดขึ้นได้
2.การอบแห้ง
ใช้ลมร้อนค่อย ๆ ลดความชื้นภายในดอกเห็ด ซึ่งจะได้เห็ดที่มีคุณภาพที่ดีกว่าเห็ดที่ตากแดด การอบใช้อุณหภูมิ เริ่มแรกประมาณ 30 องศาเซลเซียส จากนั้นเพิ่มอุณหภูมิขึ้นทีละ 1-2 องศา ทุก 1 ชั่วโมง จนถึง 50 องศาแล้วเพิ่มให้เป็น 60 องศาและรักษาอุณหภูมิระดับนี้ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มรสชาติ กลิ่น และทำให้ดอกเห็ดหอมมีลักษณะเป็นเงาสวยงาม

การตลาด 
  • ราคาส่งดอกใหญ่(ดอกสด) 190 บาท กลาง 100บาท เล็ก 80 บาท
  • ติดต่อส่งขาย ที่ตลาดสด(ถ้ามีจำนวนไม่มากนัีก) ส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่ ตลาดไทย(ถ้ามีจำนวนมาก)
  • ตั้งร้านขายริมทาง หน้าโรงเพาะเห็ดของคุณเอง
  • เห็ดหอม สามารถขายได้ทั้งดอก และก้านดอก แต่คุณต้องตาก ก้านดอกที่ตัดมาให้แห้งเสียก่อน แล้วส่งขายร้านขายอาหารเจ (มีเท่าไรเขารับหมด) ส่วนตัวดอก ก็ตากแห้เช่นกัน แล้วส่งขาย ตลาด โรงแรม(รับทั้งสด และแห้ง ดอกขนาดกลาง) ร้านอาหารเจ
เทคนิคการเพาะ
1.    เวลาเคาะเชื้อเห็ดหอมใส่ในก้อนเชื้อให้เขย่า  หรือเคาะขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างแยกออกจากกันแล้วใส่ลงไปในถุงวัสดุเพาะ  ถุงละ  5 – 6  เม็ด  ใส่สำลีปิดอย่างเร็ว   ไม่อย่างนั้นจะมีการปนเปื้อนเชื้อตัวอื่นสูง
2.    การผลิตเห็ดหอมในฤดูคือ  เริ่มหยอดเชื้อเดือนกรกฎาคม -  สิงหาคม  ทิ้งไว้ใน  โรงบ่ม  60  วัน  ก็จะเป็นฤดูหนาวพอดี  ช่วงนี้เห็ดหอมออกผลผลิตมากที่สุด     แต่ถ้าต้องการเพาะเห็ดหอมนอกฤดูก็ให้หยอดเชื้อเดือนตุลาคม  -  พฤศจิกายน  เห็ดหอมจะเริ่มออกดอกในเดือนมีนาคม –เมษายน  ช่วงนี้ผลผลิตน้อย แต่จะได้ราคาดี
แนะนำสถานที่ให้คำปรึกษา :
1.    กองส่งเสริมพืชสวน  กรมส่งเสริมการเกษตร  โทร. 02-561-4878 หรือ 02-579-3863
2.    สำนักงานเกษตรจังหวัด , อำเภอ
3.    ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก  โทร. 02-441-9263 , 02-889-8740-47
แนะนำสถานที่ฝึกอบรม :
1.    สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โทร. 02-942- 8200-45ต่อ 1336 – 1339
2.    ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก เลขที่ 3 หมู่ 8 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
แหล่งที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

7 ความคิดเห็น:

  1. ละเอียดมากเลยค่ะ ขอบคุณมากๆนะคะ

    ตอบลบ
  2. งบสร้างโรงเรือนหลังละเท่าไหร่คะ

    ตอบลบ
  3. อยาก เพราะเห็ดหอมบางค่ะ แต่หาเชื่อ ยากจังค่ะ

    ตอบลบ
  4. อยาก เพราะเห็ดหอมบางค่ะ แต่หาเชื่อ ยากจังค่ะ

    ตอบลบ
  5. ซื้อพีนธุ์เห็ดหอมก้อนละเท่าไหร่คะ

    ตอบลบ
  6. ไม่รู้แหล่งขายอ่ะครับ

    ตอบลบ