วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

เห็ดฟางทลายปาล์ม

การเพาะเห็ดฟางสามารถใช้วัสดุเพาะได้หลายชนิด  เช่น เปลือกถั่วเขียว กาก มันสำปะหลัง  ผักตบชวา  ชานอ้อย  ขี้เลื่อยไม้ยางพารา  และทะลายปาล์มน้ำมัน ก็เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่นิยมใช้มากโดยเฉพาะในภาคใต้ หาได้ง่าย ตนเองและ สมาชิก จึงทดลองนำทะลายปาล์มมาเพาะเห็ดฟางดู และก็ได้ผลจริงๆ    เพราะทะลาย ปาล์มสามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ดี ไม่แพ้กับการเพาะด้วยฟางข้าว” และที่สำคัญ ที่สุดทางกลุ่มได้มีการนำทะลายปาล์มมาเพาะเห็ดในสวนยางพารา เป็นการใช้ พื้นที่ที่มีอยู่มาให้เกิดประโยชน์ และเป็นการเกื้อกูลกันของพืช ได้ผล ประโยชน์ร่วมกันระหว่างยางพาราและเห็ดด้วย เพราะต้นยางพาราสามารถสร้างร่ม เงาและแสงแดงรำไรช่วยให้เห็ดเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และเมื่อเห็ดหมดดอก ทะลาย ปาล์มก็จะกลายมาเป็นอาหารอย่างดีให้กับต้นยางพาราด้วย”
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเห็ด :
1. ทะลายปาล์ม
2. เชื้อเห็ดฟาง หรือเห็ดอื่น ๆ ที่ต้องการ
3. ผ้าพลาสติกความยาว ม้วนละ 70 เมตร
4. ไม้ไผ่ สำหรับขึงผ้าพลาสติก
5. พื้นที่ ที่ใช้เพาะเห็ด (จะใช้พื้นที่ในสวนยางพารา)
ขั้นตอนในการเพาะเห็ดฟาง :
1. นำทะลายปาล์มมากองรวม ล้อมกันเป็นวงกลม โดยจะฉีดน้ำ 2 วันต่อหนึ่งครั้ง คลุมด้วยผ้าพลาสติก รอประมาณ 3-7 วัน (เพื่อให้ทะลายปาล์มชุ่มน้ำ) นำเอามาใช้ได้
2. เตรียมพื้นที่โดยการถางหญ้ารอบ ๆ สวนยางออก จะใช้พื้นที่ระหว่างต้นยางในการเพาะเห็ด ซึ่งการเพาะเห็ดจะต้องใช้พื้นที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากปลูกในพื้นที่โล่งมาก แดดส่องจ้า ต้องมีการกรองแสงด้วย
3. นำทะลายปาล์มมาวางเป็นร่องตามช่องว่างของต้นยาง ความยาวประมาณ 5 เมตร ฉีดน้ำลงบนทะลายปาล์ม เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก
4. โรยเชื้อเห็ด ลงบนร่องที่เตรียมไว้ โดย 1 ร่อง ใช้เชื้อ 3 ก้อน โรยเชื้อก้อนละ 1 เมตร
5. รอประมาณ 3 วัน ขึ้นโคลงไม้ไผ่ เป็นแนวไว้สำหรับขึงผ้าพลาสติก ประมาณ 4-5 โคลง โค้งเป็นแนวยาว
6. คลุมผ้าพลาสติกตามแนวโคลงไม้ไผ่ 1 ร่อง ใช้ผ้าพลาสติกประมาณ 7 เมตร
7. รอประมาณ 7 – 9 วัน เห็ดก็จะงอก สามารถเก็บไปขายได้
การดูแลรักษา :
การระบายความร้อน หลังจากเพาะเห็ดแล้ว 4-5 วัน ให้เปิดชายผ้าพลาสติกออกบ้างเพื่อระบายความร้อนออกจากกองเห็ดบ้าง เพราะถ้าอากาศร้อนเกินไปเส้นใยเห็ดจะไม่รวมตัวเป็นดอก นอกจากช่วยระบายความร้อนแล้วยังเป็นการเพิ่มอากาศให้กับเห็ดอีกด้วย
การให้น้ำ :
พยายามให้ความชื้นแก่กองเห็ดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง พยายามพ่นน้ำให้เป็นฝอยลงบนกองเห็ดพอชุ่มชื้น

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เห็ดเป๋าฮื้อ

ธรรมชาติของเห็ดเป๋าฮื้อ มักขึ้นอยู่บนต้นไม้ที่ผุพังแล้ว ลักษณะของดอกเห็ดไม่ค่อยจะเป็นรูปทรงที่แน่นอน แต่มีลักษณะคล้ายเห็ดนางรม

เนื่องจากเห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับเห็ดหอม จึงมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงมาก จะต่างกันก็ที่ดอกใหญ่และหายากกว่า สีดอกระยะแรกจะมีสีค่อนข้างคล้ำจนดำเมื่ออายุมากขึ้นจะค่อย ๆ จางลง

และเป็นสีน้ำตาลอ่อนเมื่อแก่จัด ตามปกติจะขึ้นได้ดีในฤดูหนาว แต่เนื่องจากเห็ดเป๋าฮื้อมีการปรับตัวต่ออุณหภูมิได้ค่อนข้างสูง ฉะนั้น ในปัจจุบันจึงสามารถที่นะเพาะเห็ดเป๋าฮื้อได้ผลดีทุกฤดูกาล ในทุกภาคของประเทศไทย
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเห็ดเป๋าฮื้อ
1. แสงสว่างแม้ว่าเห็ดเป๋าฮื้อจะไม่มีคลอโรฟิลล์ จึงไม่จำเป็นต้องใช้แสงสว่างในการปรุงอาหาร
แต่แสงสว่างมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เห็ดออกดอก โดยเฉพาะการเจริญของหมากดอก
แต่ถ้าแสงน้อยหรือไม่มีแสงจะกระตุ้นการเจริญของก้านดอก นอกจากนี้ถ้าเห็ดเป๋าฮื้อเจริญในที่มืด หมวดดอกจะมีสีเข้ม แต่ถ้าเห็ดเป๋าฮื้อเจริญเติบโตในแสงสว่าง หมวกดอกจะมีสีจางลง
2. ความชื้นมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ดเป๋าฮื้อมาก เห็ดพวกนี้ต้องการความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูงมาก จึงจำเป็นต้องเพาะในโรงเรือนเพาะเห็ด ความชื้นภายในโรงเรียนที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 90-95 เปอร์เซ็นต์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้ดอกเห็ดมีขนาด ใหญ่และมีน้ำหนักมาก

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเพาะเห็ดออเรนจิ หนึ่งเดียวในไทย

ห็ดเออริจิ หรือ เห็ดนางรมหลวง เป็นเห็ดเมืองหนาว พบมากในประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป ส่วนการเพาะเห็ดเออริจิ ในประเทศไทยในขณะนี้ มีเพียงฟาร์มเห็ด ปิยะพร อินเตอร์เอโกรโลยี ที่จังหวัดสระบุรี เพียงแห่งเดียว ที่สามารถเพาะเห็ดเออริจิ ออกจำหน่าย 
นายชาญชัย กิตติชูโชติ เจ้าของกิจการฟาร์มเห็ดปิยะพรฯ กล่าวว่า สำหรับเห็ดเออริจิ เป็นเห็ดที่มีรสชาติดี และเมื่อนำมาผ่านขบวนการปรุงเป็นอาหาร รสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เช่น ถ้านำมาย่าง รสชาติเหมือนกับปลาหมึกย่าง และเมื่อนำมาทำน้ำแดงรสชาติเหมือนเปาฮื้อ ทำให้มีการนำเห็ดเออริจิมาใช้แทนเนื้อสัตว์ ในการปรุงอาหารมังสวิรัติ
ทั้งนี้ คุณค่าทางอาหารของเห็ดเออริจิ มีโปรตีนประมาณ 25 % คลอเรสเตอรอลต่ำ คุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่มีการใช้สารเคมี เห็ดเออริจิจึงถูกจัดเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งการเพาะเห็ดเออริจิ ของฟาร์มปิยะพรฯ ใช้การเพาะเลี้ยงในระบบปิด เนื่องจากเป็นเห็ดเมืองหนาว จะต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส
โดยความรู้ในการเพาะเห็ด ทางฟาร์มปิยะพรฯได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ วว. โดยอาจารย์ สำเภา ภัทรเกษวิทย์ เป็นที่ปรึกษาโครงการและควบคุมการผลิต และเนื่องจากการเพาะเห็ดเออริจิในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันมากจากประเทศต้นกำเนิด ทำให้การเพาะเห็ดดังกล่าว ต้องใช้เวลาและใช้ทุนจำนวนมากถึง 40 ล้านบาท  
       ส่วนหนึ่งทางฟาร์มได้รับเงินกู้จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งทางธนาคารฯ เห็นว่าเป็นธุรกิจของคนไทย และเป็นธุรกิจการเกษตรที่แปลกใหม่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ในขณะที่เจ้าของฟาร์มเห็ด สนใจทำเห็ดเออริจิ แม้ว่าทุนค่อนข้างจะสูงมาก เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และเป็นรายแรก ประกอบกับเห็ดเออริจิเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งเข้ากับกระแสของคนรักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ในปัจจุบัน
นายชาญชัย กล่าวว่า ในครั้งแรกที่เริ่มทำฟาร์มเห็ดเออริจิ ไม่ประสบความสำเร็จ และตั้งใจว่าจะเลิกทำ โดยหยุดทำไปพักหนึ่ง ซึ่งทางอาจารย์สำเภา ก็ได้คิดค้นหาวิธีการเพาะเลี้ยงใหม่จนประสบผลสำเร็จ และมาชักชวนให้ทำอีกครั้ง ซึ่งเราเห็นว่า ในเมื่อมีโรงเรือน ที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ และที่ผ่านมาก็ลงทุนไปแล้ว จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มและทำใหม่อีกครั้ง โดยในครั้งหลังนี้ ผลผลิตออกมาเป็นที่พอใจ โดย ตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 5 ปี

โดยผลผลิตที่ได้ในขณะนี้ ประมาณ 300 -400 กิโลกรัม ต่อวัน ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับตั้งแต่วันที่เริ่มเพาะประมาณ 2 เดือนครึ่ง สายพันธุ์ที่นำมาเพาะเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป การที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าลงได้ ทำให้ไม่ต้องเสียดุลการค้า ส่วนราคาขายในท้องตลาด ประมาณ 300 - 350 บาท ราคาขายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 250 บาทในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย เนื่องจากเป็นเห็ดที่ต้องอยู่ในห้องเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงไม่สามารถนำไปวางขายทั่วไปได้ และประกอบกับผลผลิตที่ออกมาในขณะนี้ ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาด ผลผลิตที่ออกมาส่วนใหญ่จะส่งตามร้านอาหาร และซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีชื่อเสียงบางแห่งสำหรับตลาดเห็ดเออริจิ
ในประเทศไทย ตลาดยังมีความต้องการอยู่สูงมาก เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ปลูกได้เพียงรายเดียว และชื่อของเห็ดเออริจิเป็นที่รู้จักของคนไทยระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งคงมาจากชื่อเสียงของเห็ดเออริจิ ที่ดังมาจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป ร้านอาหารที่รับเห็ดเออริจิจากเราไป ส่วนหนึ่งทำอาหารขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่รู้จักเห็ดเออริจิ
เชื้อเห็ดนางรมหลวงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอาหารเลี้ยงเชื้อทั่วไป แต่ต้องการอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็นประมาณ 25 ซ. และเลี้ยงขยายเชื้อได้ดีในเมล็ดข้าวฟ่างเช่นเดียวกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน (ยางพารา) หรือผสมกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดบด ต้นไมยราบบด ใช้เป็นวัสดุเพาะหลัก โดยผสมกับอาหารเสริม เช่น รำข้าว รากมอลต์ เมล็ดข้าวฟ่างบด น้ำตาลทรายแดง ความชื้น 70-75% บรรจุในขวดพลาสติก ปากกว้างขนาดความจุ 1 ลิตร อบฆ่าเชื้อที่ 121 ซ. นาน 1 ชม. เลี้ยงเชื้อที่อุณหภูมิ 22-25 ซ. นานประมาณ 30 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเต็มขวด แล้วเลี้ยงต่อให้เชื้อเจริญเติบโตเต็มที่อีกประมาณ 10 วัน จึงนำไปเปิดดอกที่อุณหภูมิ 15-20  ซ. ความชื้น 80-90% หลังจากเปิดขวดได้ประมาณ 15 วัน ก็จะเก็บเห็ดได้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 100-150 กรัมต่อขวด โดยทั่วไปจะทำการเก็บเห็ดเพียงรุ่นเดียว จะเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วทิ้งเพราะเห็ดรุ่นที่สองคุณภาพไม่ดี มีขนาดเล็กและน้ำหนักน้อย ได้ผลไม่คุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เสียไป
ส่วนเมนูที่ได้รับความนิยม เห็ดย่าง เห็ดผัดพริกไทดำ เห็ดผัดน้ำมัน เห็ดเปาฮือน้ำแดง เห็ดชุบแป้งทอด เป็นต้น แม้ว่ากำลังการผลิตจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่การเพิ่มกำลังการผลิต ก็คงต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง เพราะการเพิ่มกำลังการผลิตต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการที่รายอื่นๆ จะหันมาผลิต ก็คงจะต้องคิดหนัก เพราะต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยยังไม่สามารถหาวิธีการเพาะเลี้ยงในระบบเปิดได้ ถ้าเลี้ยงในระบบเปิดได้ คงจะมีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย และราคาก็จะถูกลง
        ผู้สนใจต้องการความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเห็ด ติดต่อไปได้ที่ อาจารย์สำเภา ภัทรเกษวิทย์ อดีตผู้อำนวยการโครงการเห็ดของ วว. โทร. 0-1867-6410 หรือ บริษัท ปิยะพร อินเตอร์เอโกรโลยี โทร. 0-9778-6519
ขอขอบคุณ แหล่งที่มา: http://www.manager.co.th
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต