วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เห็ดโคนญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ เรื่องเห็ดๆ กับการเพาะ เห็ดโคนญี่ปุ่นซึ่งเป็นเห็ดที่คนไทยนิยมรับประทานกันในขณะนี้ ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แถมเห็ดก็มีราคาแพง เป็นที่สนใจของผู้ที่กำลังมองหาอาชีพเสริมหรือจะเป็นอาชีพหลัก วันนี้เรานำวิธีการเพาะและตัวอย่างการทำฟาร์มเห็ดแบบจริงจังมาให้ผู้สนใจได้ศึกษากันค่ะ...
ตัวอย่างการทำฟาร์มเห็ดโคนญี่ปุ่น
ผู้ใหญ่สุภีร์ ดาหาร ทำฟาร์มเห็ดโคนญี่ปุ่น ขายกิโลกรัมละ 200 บาท ได้ผลดี ที่บ้านหนองโข่ย อำเภอเมืองขอนแก่น
คุณสุภีร์ ดาหาร อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองโข่ย อยู่บ้านเลขที่ 175 หมู่ที่ 19 ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (เกษตรกรรม) จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตเกษตรลำปาง ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง
หลังจากจบการศึกษาแล้ว ก็ไปสมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งงานที่ได้ทำส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นงานวิจัยส่งเสริมและพัฒนา หลังจากนั้นได้ไปเป็นครูอัตราจ้างอยู่ 1 ปีการศึกษา ก็หมดสัญญาจ้าง ปี 2529 ก็ไปสมัครเข้าทำงานซึ่งเป็นโครงการร่วมกับต่างประเทศของกระทรวง
เกษตรและสหกรณ์ จากนั้นก็เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานโครงการของกรมวิชาการเกษตรมาตลอด จนถึงปี 2547 จึงลาออกจากงานมาทำกิจการของตัวเองอย่างจริงจัง
คุณสุภีร์ ดาหาร แต่งงานมีครอบครัวแล้วเมื่อปี 2530 กับ คุณทิพยาภา ดาหาร พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นชายทั้งหมด ซึ่งในช่วงที่ทำงานเป็นลูกจ้างของกรมวิชาการเกษตรนั้น ได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติงานฝึกอบรม ศึกษาดูงานทั่วทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสานไปทุกจังหวัด จากแนวคิดตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ซึ่งคิดไว้อยากมีฟาร์มเป็นของตนเอง ประกอบกับชอบงานที่เป็นอิสระ เพราะในช่วงที่ทำงานอยู่นั้นก็ได้ศึกษาอาชีพที่ได้ไปเห็นมา หาข้อดี ข้อเสียมาเปรียบเทียบกับสภาพพื้นที่ของตนเองว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งมีที่ดินประมาณ 5 ไร่ ได้ปลูกมะม่วงไว้ 2 ไร่ ส่วนที่เหลือก็ปลูกมันสำปะหลังสลับกับข้าวโพดมาตลอด
ต่อมาปี 2540 ได้นำฝรั่งมาปลูกจำนวน 100 ต้น มะขามเทศ 50 ต้น และซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอก จำนวน 2,000 ก้อน ฝรั่งที่ปลูกไว้ก็ให้ผลผลิตดี คุณภาพก็ดีในช่วงแรก แต่ก็มีปัญหาเรื่องแรงงานและต้องพ่นสารเคมีด้วย ซึ่งตนเองก็ไม่ชอบอยู่แล้ว และมะขามเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกับฝรั่ง
ส่วนเห็ดนั้นช่วงแรกจะเป็นเห็ดนางฟ้า โดยซื้อมาก้อนละ 4 บาท ปรากฏว่าได้ผลดีมากและก็ขายได้ราคาดี และสิ่งที่ชอบก็คือ ไม่ฉีดพ่นสารเคมี และก็ขายเห็ดได้ประมาณ 20,000 บาท หลังจากนั้นก็ได้ไปศึกษาดูงานการทำฟาร์มเห็ดจากหลายๆ แห่ง เพราะช่วงนั้นยังทำงานอยู่จึงมีโอกาสไปหลายแห่ง ซึ่งก็ได้นำข้อดี ข้อเสียของแต่ละฟาร์มมาปรับใช้กับฟาร์มของตนเอง จากนั้นก็ได้เริ่มซื้ออุปกรณ์มาเก็บไว้ พร้อมกับการศึกษาดูงานการเพาะเห็ดอยู่เรื่อยๆ และศึกษาจากหนังสือต่างๆ เริ่มหัดทำอาหารวุ้น PDA และทำหัวเชื้อและเมล็ดข้าวฟ่าง ทำช่วงแรกไม่ได้ผล แล้วก็ลองทำใหม่จนได้ผล หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์การเพาะเห็ด ประกอบกับคิดว่ามีความชำนาญจากการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาทำฟาร์มเห็ดอย่างเต็มตัว โดยในปีแรกก็เริ่มทำก้อนเชื้อเอง แต่เชื้อเห็ดได้สั่งซื้อจากที่อื่น โดยเพาะเห็ดขอนขาว จำนวน 6,000 ก้อน จำนวน 1 โรงเรือน ซึ่งให้ผลผลิตดีมาก คือเก็บผลผลิตได้ 4 เดือน คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม ซึ่งในช่วงที่เปิดดอกเห็ดขอนขาวโรงแรกนี้ ก็ได้ฝึกทำเชื้อและทำอาหารวุ้นควบคู่กันไปด้วย เมื่อเริ่มทำได้แล้วก็เริ่มซื้ออุปกรณ์ในการทำหัวเชื้อ เช่น หม้อนึ่งความดัน ถังผสม และเครื่องอัดก้อนเชื้อ ซึ่งก็ได้ทุนมาจากผลผลิตของเห็ดขอนขาวโรงแรก

เมื่อผลิตหัวเชื้อได้แล้ว ก็ได้เพิ่มการผลิตก้อนเชื้อเห็ดชนิดอื่นขึ้นอีก เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดบด เห็ดนางนวล เห็ดหัวลิง เห็ดเป๋าฮื้อ และสุดท้ายก็ได้ทดลองเพาะเห็ดยานางิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) ซึ่งในตอนนี้ก็สามารถผลิตหัวเชื้อเห็ดที่กล่าวมาข้างต้นได้ทุกชนิดพร้อมจำหน่าย ซึ่งการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นในช่วงแรก เมื่อได้ผลผลิตในตอนแรกแม้แต่ตนเองก็ยังไม่กล้ารับประทานสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้เพาะแล้วก็ต้องลองดู ปรากฏว่าอร่อยดี จากนั้นก็ให้เพื่อนบ้านลองชิมดูก็มีทั้งคนกล้าและไม่กล้า แต่เมื่อได้ลองกินดูแล้วต้องขอเพิ่มอีก จากนั้นชาวบ้านก็เริ่มจะมีความคุ้นเคยกับเห็ดชนิดนี้ ลองซื้อไปทำกินที่บ้าน หลังจากนั้นจะกลับมาซื้อใหม่อีก ซึ่งในช่วงนั้นเห็ดโคนญี่ปุ่นก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์มากขึ้น คนก็เริ่มรู้จักดียิ่งขึ้น ซึ่งผู้บริโภคในช่วงแรกก็จะเป็นผู้ที่ทำงานในสำนักงานหรือส่วนราชการต่างๆ แต่ช่วงหลังมาระดับชาวบ้านก็ซื้อไปประกอบอาหารมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่าเห็ดชนิดนี้เป็นได้ทั้งอาหารและยา ซึ่งเห็ดโคนญี่ปุ่นนี้จะมีข้อดีก็คือ การดูแลรักษาเหมือนเห็ดนางฟ้าแต่ราคาเท่าเห็ดหอม และก็สามารถผลิตได้ทุกฤดู อายุการให้ผลผลิตแต่ละรุ่นนาน 12 เดือน รสชาติอร่อย อ่อนนุ่ม กรอบ เมื่อเทียบกับเห็ดหอมมีความกรอบมากกว่า เป็นทั้งอาหารและมีสรรพคุณทางยาด้วย แต่จะมีข้อเสียก็คือ เมื่อให้ผลผลิตแล้วจะมีระยะพักตัวนานกว่าเห็ดชนิดอื่นคือ 20-30 วัน
เห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเพาะในถุงพลาสติกซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาและการเพาะเลี้ยงคล้ายกับเห็ดนางฟ้าภูฏาน เพียงแต่ความชื้นที่ใช้ในการกระตุ้นให้เกิดดอกจะมีสูงกว่า และจะต้องมีการพักตัวเพื่อสะสมอาหารของก้อนเห็ด ก่อนจะนำไปเปิดดอกเหมือนเห็ดหอม และในปัจจุบันเห็ดโคนญี่ปุ่นกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในลักษณะของการจำหน่ายดอกเห็ดสดหรือเห็ดโคนญี่ปุ่นแปรรูปมีราคาที่ค่อนข้างสูงทีเดียวในบรรดาเห็ดที่สามารถเพาะได้ในถุงพลาสติกเรียกได้ว่า ไม่ถูกไปกว่าราคาของเห็ดหอมเลยทีเดียว ซึ่งรสชาดของเห็ดโคนญี่ปุ่นจะเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัวคือจะมีหมวกดอกที่เหนียวนุ่มเหมือนเห็ดหอมแต่บริเวณขาของเห็ด โคนญี่ปุ่นจะกรอบอร่อยเห็ดโคนญี่ปุ่นได้ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มายาวนาน จนในปัจจุบันนี้สายพันธุ์ที่ส่งเสริม หรือ แนะนำให้เพาะจึงง่ายต่อการดูแลรักษาแต่ให้ผลผลิตสูงเห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นเห็ดที่ใช้ประกอบอาหารได้ดีโดยเฉพาะก้านดอกซึ่งมีเนื้อเยื่อยาวและแน่นเวลาเคี้ยวจะได้รสชาติดีทำอาหาร ได้ทั้งผัดและต้มแกง ให้คุณค่าทางอาหารสูงเช่นเดียวกับเห็ดชนิดอื่นๆปัจจุบันเริ่ม มีการเพาะเห็ดนี้กันมากขึ้น แต่ผลผลิตยังน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
สิ่งสำคัญที่เห็ดโคนญี่ปุ่นต้องการทั่วไป
1.ธาตุอาหาร (Nutrition)
เห็ดเป็นพืชชั้นต่ำไม่สามารถสังเคราะห์อาหารเองได้(Hetrotroph)จึงจำเป็นต้องอาศัยอาหารสำเร็จรูปจากแหล่งต่างๆเช่นไม้ผุหรือปุ๋ยหมักเป็นต้น เป็นเห็ดที่มีน้ำย่อยที่สามารถย่อยอาหารเชิงซ้อน โดยเฉพาะ พวกที่ให้พลังงานได้เช่นธาตุคาร์บอนที่อยู่ในรูปเชิงซ้อน ได้แก่ พวกลิกนิน (Lignin) ฮิมิเซลลูโลส (Hemicellulouse) โดยเส้นใยเห็ดมีน้ำย่อยทำการย่อยธาตุอาหารด้วยตัวมันเองได้ และนำเอาไปใช้พลังงานที่ใช้ในการเจริญเติบโต และแบ่งเซลของมันจากเหตุผลดังกล่าว จึงสามารถใช้วัสดุเพาะโดยตรงได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องทำการหมักเสียก่อนยกเว้น วัสดุบางชนิดที่มียางที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด หรือ เป็นวัสดุที่แข็งยาว ยากต่อการนำเอาไปบรรจุในถุง เช่น ฟางข้าวต้น ข้าวโพด ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ เป็นต้น ควรทำการหมักให้นิ่มก่อน หรือ ให้จุลินทรีย์ ช่วยย่อยให้ระดับหนึ่งก่อน แต่ไม่ถึงกับหมักจนเน่าสลายเหมือน การหมักปุ๋ยเห็ดฟาง เห็ดแชมปิญอง
2.อุณหภูมิ Temperature
อุณหภูมิก็นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดอยู่ไม่น้อย อุณหภูมิ 24 - 30 C เป็นอุณหภูมิที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเส้นใยและดอกเห็ดโคนญี่ปุ่น
3.ความชื้น Humidity
องค์ประกอบเห็ดทุกส่วน ไม่ว่าเส้นใยเห็ดหรือดอกเห็ดโคนญี่ปุ่น จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่มากถึง 90% ยกเว้นสปอร์น้ำมีความจำเป็นต่อกระบวนการต่างๆ และการรักษาสภาพอุณหภูมิภายในเซลล์ ดังนั้นทุกขั้นตอนของการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นช่วงของการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด การเกิดดอกการเจริญเติบโตของดอกเห็ดล้วน แต่ต้องการความชื้นสูง โดยปกติแล้วเว้นเสียแต่ระยะที่ทำให้เกิดดอกต้องเปิดปากถุงให้สัมผัสกับบรรยากาศโดยจะต้องควบคุมบรรยากาศให้มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระหว่าง 80-90%
4.อากาศ (Air)
คำว่าอากาศในที่นี้ หมายถึง ก๊าซออกซิเจนหรืออากาศบริสุทธิ์ จากภายในวัสดุเพาะหรือโรงเรือนเพาะเห็ด ทุกระยะของการเจริญเติบโตของเห็ดโคนญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่ต้องการอากาศในการหายใจทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะของการสร้างและการเจริญเติบโตของดอกเห็ด
5.แสง (Light)
ช่วงที่เส้นใยเห็ดเจริญเติบโต ไม่ต้องการแสง ช่วงที่เส้นใยสะสมอาหารและกำลังจะรวมตัวเป็นดอกเห็ด พบว่าแสงมีความจำเป็นในการกระตุ้นให้เกิดเส้นใยของเห็ด รวมตัวกันเป็นดอกเห็ดแสงรำไรที่ส่องเข้าไปในโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ และทั่วถึงจะทำให้ดอกเห็ดพัฒนาได้สมบูรณ์ดียิ่งขึ้นหากแสงไม่เพียงพอ ดอกเห็ดจะโน้มไปหาแสงที่มีความเข้มข้นสูง ในทางตรงข้าม หากแสงมากเกินไป ดอกเห็ดจะสีคล้ำและแห้งง่าย
6.ความเป็นกรด-ด่าง (PH)
ระดับความเป็นกรดเป็นด่าง ที่เห็ดโคนญี่ปุ่นต้องการอยู่ในระดับค่าเป็นกลาง 6.5-7.5
7.สารพิษ
ไม่ควรใช้สารเคมี หรือสารประกอบที่มีพิษกับการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น
วัสดุ อุปกรณ์ ที่สำคัญในการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น
วัสดุเพาะ วัสดุเพาะที่นิยมมากที่สุด คือขี้เลื่อยจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ไม้งิ้ว ไม้นุ่น ไม้ก้ามปู ไม้กระถินณรงค์ กากเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะขาม ไม้ทุเรียน ไม้ขนุน ต้องทำการหมักสลายยางไม้เสียก่อน วัสดุเพาะที่นิยมกรณีที่ไม่มีขี้เลื่อย คือ ฟางข้าว ต้นข้าวโพดต้นข้าวฟ่าง วัสดุเพาะดังกล่าวนี้หากนำไปเพาะเห็ด จะทำให้ผลผลิตค่อนข้างสูงคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นไม้ รสชาติดีกว่า แต่ต้องทำการหมักจน
กว่าวัสดุเพะจะนิ่มและหอม จึงจะสามารถนำไปเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นได้สูตรอาหาร เห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นเห็ดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ดังนั้น การที่จะเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี ก็ควรทำการเสริม
หรือเติมธาตุอาหารที่เห็ดต้องการเข้าไปให้ครบถ้วน
วิธีการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น
สูตรส่วนผสมการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น
ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
รำอ่อน 100 กิโลกรัม
ปูนขาว 2 กิโลกรัม
ดีเกลือ 3 ขีด
พูไมท์ 2 กิโลกรัม
แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม
น้ำ 60-70%
วิธีคลุกส่วนผสมและการนึ่งฆ่าเชื้อ
นำวัสดุส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ในขั้นสุดท้ายนำน้ำมาผสมลงไปให้พอเหมาะ อย่าให้แฉะเกินไป บรรจุลงถุงอัดให้แน่น ใส่คอขวดพลาสติค รัดด้วยยางรัด แล้วนำไปนึ่ง ในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง การจับเวลาในการนึ่งควรจับหลังจากที่มีไอน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นเส้นตรง หลังจากนึ่งเสร็จแล้วปล่อยให้เย็น แล้วนำออกจากหม้อนึ่ง นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อ
วิธีการเขี่ยเชื้อลงถุงพลาสติก
วัสดุในการเขี่ยเชื้อ
ขวดหัวเชื้อเห็ด
ตะเกียงแอลกอฮอล์
สำลี
ไม้ขีดไฟ
กระดาษหนังสือพิมพ์ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาด 2.5x4 นิ้ว
ยางรัด


ขั้นตอนการเขี่ยเชื้อ
จุดตะเกียงแอลกอฮอล์
นำขวดเชื้อมาลนไฟที่ตะเกียง
เช็ดมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 70%
นำขวดเชื้อที่ลนไฟแล้วมาแคะหรือย่อยให้หัวเชื้อละเอียด
หลังจากเขี่ยเชื้อลงถุงเรียบร้อยแล้ว ปิดกระดาษ แล้วรัดด้วยยางรัดทันที
นำก้อนที่เขี่ยแล้วขึ้นตั้งเรียงไว้เพื่อบ่มเชื้อในโรงเรือนบ่ม ใช้ระยะเวลาในการบ่มประมาณ 45-50 วัน สามารถนำไปเปิดเอาดอกในโรงเรือนได้
เชื้อ 1 ขวด ควรเขี่ยลงถุงได้ 32-35 ถุง
ลักษณะโรงเรือนเห็ดโคนญี่ปุ่น
ลักษณะโรงเรือนเหมือนกับการเพาะเห็ดนางฟ้านางรมทั่วๆ ไปคือขนาด 4.5x10เมตร ด้านข้างสูงประมาณ 1.4 เมตร บรรจุก้อนเชื้อได้ 6,000 ก้อน หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบจาก ด้านข้างกั้นด้วยซาแรน 60% โครงสร้างภายในทำเป็นแผง เอียงทำมุม 75 องศาเซลเซียส การสร้างโรงเรือนควรสร้างในแนวทิศตะวันออก-ตก เพื่อการถ่ายเทอากาศได้ดี
การดูแลรักษา
หลังจากบ่มเชื้อครบ 45-50 วัน แล้วนำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเปิดดอก โดยแกะกระดาษ เขี่ยข้าวฟ่างและสำลีออกให้หมด ทำความสะอาดพื้นโรงเรือน รดน้ำให้ชุ่ม วันละ 3 เวลา คือเช้า เที่ยง เย็น เห็ดจะออกดอกได้ดี
วิธีการเก็บดอกเห็ด
ใช้มือกดปากถุงเห็ดไว้ อีกมือหนึ่งค่อยๆ ดึงดอกเห็ดออกจากถุงอย่าให้หน้าก้อนเห็ดแตก และอย่าพยายามให้มีเศษขาของดอกเห็ดปิดรูถุง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา ปิดปากถุงเห็ดกันเห็ดรุ่นต่อไปไม่ให้ออกดอกมาได้
"สำหรับราคาจำหน่ายเห็ดภายในฟาร์มมีดังนี้ ราคาดอกเห็ด เห็ดโคนญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 150-200 บาท เห็ดบด 100 บาท เห็ดขอนขาว 60 บาท เห็ดนางฟ้า-นางรม 50 บาท เห็ดเป๋าฮื้อ 60 บาท ส่วนราคาก้อนเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่นก้อนละ 10 บาท ขอนขาว 6 บาท นางฟ้า นางรม 5 บาท เป๋าฮื้อ 7 บาท"
ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่ากิจกรรมหลักในสวนจะเป็นการเพาะเห็ด แต่ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำผสมผสานกันไป ซึ่งได้แก่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากก้อนเชื้อเห็ดเก่าจำหน่าย การเลี้ยงกบ จำนวน 4 บ่อ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ จำนวน 2 บ่อ เตาเผาถ่านคุณภาพสูง จำนวน 1 เตา เพื่อผลิตน้ำส้มควันไม้ เลี้ยงหมูป่า และหมูลูกผสม พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 4 ตัว ปลูกน้อยหน่า 50 ต้น ฝรั่ง 50 ต้น และปลูกไผ่บงหวาน จำนวน 100 กอ โดยกิจกรรมเสริมทั้งหมดนี้ได้ทำควบคู่ไปกับการเพาะเห็ด และก็ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทุกกิจกรรม ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ปัจจุบันคุณสุภีร์ ดาหาร ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในหมู่บ้าน ให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองโข่ย หมู่ที่ 19 ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และยังให้ความร่วมมือกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองขอนแก่น ใช้ฟาร์มเห็ดของตนเองเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจโดยทั่วไป ท่านใดสนใจอยากจะเยี่ยมชมผลงานหรือสอบถามความรู้และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 975-2612, (043) 261-835
แหล่งที่มา : ฟาร์เห็ดดอทคอม
ขอขอบคุณ : ภาพจากอินเตอร์เน็ต




2 ความคิดเห็น:

  1. ฟาร์มไก่โรงเรือนแบบปิด ควบคุมอุณหภูมิได้ ใช้เป็นโรงเรือนเลยได้ไหมคะ
    น่าสนใจ มาก ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. เห็ดยานางิ ( เห็ดโคนญี่ปุ่น )
    เป็นเห็ดเมืองหนาว ออกดอกดีที่ 20-25 องศา / ความชื้น 80-90 % ถ้าอุณหภูมิสูง / ความชื้นน้อยกว่านี้ คุณภาพดอกไม่ดี ไม่มีน้ำหนัก ก้านดอกเล็ก การผลิตก้อนเชื้อไม่ยากอะไร ทุกฟาร์มที่ผลิตก้อนเชื้อนางรม/นางฟ้าอยู่ก่อนแล้วสามารถทำได้ **รายงานโดย ฟาร์มเห็ดเพชรพิจิตร www.phetphichit.com**

    ตอบลบ