นายชาญชัย กิตติชูโชติ เจ้าของกิจการฟาร์มเห็ดปิยะพรฯ กล่าวว่า สำหรับเห็ดเออริจิ เป็นเห็ดที่มีรสชาติดี และเมื่อนำมาผ่านขบวนการปรุงเป็นอาหาร รสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เช่น ถ้านำมาย่าง รสชาติเหมือนกับปลาหมึกย่าง และเมื่อนำมาทำน้ำแดงรสชาติเหมือนเปาฮื้อ ทำให้มีการนำเห็ดเออริจิมาใช้แทนเนื้อสัตว์ ในการปรุงอาหารมังสวิรัติ
ทั้งนี้ คุณค่าทางอาหารของเห็ดเออริจิ มีโปรตีนประมาณ 25 % คลอเรสเตอรอลต่ำ คุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่มีการใช้สารเคมี เห็ดเออริจิจึงถูกจัดเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งการเพาะเห็ดเออริจิ ของฟาร์มปิยะพรฯ ใช้การเพาะเลี้ยงในระบบปิด เนื่องจากเป็นเห็ดเมืองหนาว จะต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส
โดยความรู้ในการเพาะเห็ด ทางฟาร์มปิยะพรฯได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ วว. โดยอาจารย์ สำเภา ภัทรเกษวิทย์ เป็นที่ปรึกษาโครงการและควบคุมการผลิต และเนื่องจากการเพาะเห็ดเออริจิในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันมากจากประเทศต้นกำเนิด ทำให้การเพาะเห็ดดังกล่าว ต้องใช้เวลาและใช้ทุนจำนวนมากถึง 40 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งทางฟาร์มได้รับเงินกู้จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งทางธนาคารฯ เห็นว่าเป็นธุรกิจของคนไทย และเป็นธุรกิจการเกษตรที่แปลกใหม่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ในขณะที่เจ้าของฟาร์มเห็ด สนใจทำเห็ดเออริจิ แม้ว่าทุนค่อนข้างจะสูงมาก เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และเป็นรายแรก ประกอบกับเห็ดเออริจิเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งเข้ากับกระแสของคนรักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ในปัจจุบัน
นายชาญชัย กล่าวว่า ในครั้งแรกที่เริ่มทำฟาร์มเห็ดเออริจิ ไม่ประสบความสำเร็จ และตั้งใจว่าจะเลิกทำ โดยหยุดทำไปพักหนึ่ง ซึ่งทางอาจารย์สำเภา ก็ได้คิดค้นหาวิธีการเพาะเลี้ยงใหม่จนประสบผลสำเร็จ และมาชักชวนให้ทำอีกครั้ง ซึ่งเราเห็นว่า ในเมื่อมีโรงเรือน ที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ และที่ผ่านมาก็ลงทุนไปแล้ว จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มและทำใหม่อีกครั้ง โดยในครั้งหลังนี้ ผลผลิตออกมาเป็นที่พอใจ โดย ตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 5 ปี
โดยผลผลิตที่ได้ในขณะนี้ ประมาณ 300 -400 กิโลกรัม ต่อวัน ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับตั้งแต่วันที่เริ่มเพาะประมาณ 2 เดือนครึ่ง สายพันธุ์ที่นำมาเพาะเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป การที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าลงได้ ทำให้ไม่ต้องเสียดุลการค้า ส่วนราคาขายในท้องตลาด ประมาณ 300 - 350 บาท ราคาขายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 250 บาทในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย เนื่องจากเป็นเห็ดที่ต้องอยู่ในห้องเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงไม่สามารถนำไปวางขายทั่วไปได้ และประกอบกับผลผลิตที่ออกมาในขณะนี้ ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาด ผลผลิตที่ออกมาส่วนใหญ่จะส่งตามร้านอาหาร และซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีชื่อเสียงบางแห่งสำหรับตลาดเห็ดเออริจิ
ในประเทศไทย ตลาดยังมีความต้องการอยู่สูงมาก เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ปลูกได้เพียงรายเดียว และชื่อของเห็ดเออริจิเป็นที่รู้จักของคนไทยระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งคงมาจากชื่อเสียงของเห็ดเออริจิ ที่ดังมาจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป ร้านอาหารที่รับเห็ดเออริจิจากเราไป ส่วนหนึ่งทำอาหารขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่รู้จักเห็ดเออริจิ
เชื้อเห็ดนางรมหลวงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอาหารเลี้ยงเชื้อทั่วไป แต่ต้องการอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็นประมาณ 25 ซ. และเลี้ยงขยายเชื้อได้ดีในเมล็ดข้าวฟ่างเช่นเดียวกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน (ยางพารา) หรือผสมกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดบด ต้นไมยราบบด ใช้เป็นวัสดุเพาะหลัก โดยผสมกับอาหารเสริม เช่น รำข้าว รากมอลต์ เมล็ดข้าวฟ่างบด น้ำตาลทรายแดง ความชื้น 70-75% บรรจุในขวดพลาสติก ปากกว้างขนาดความจุ 1 ลิตร อบฆ่าเชื้อที่ 121 ซ. นาน 1 ชม. เลี้ยงเชื้อที่อุณหภูมิ 22-25 ซ. นานประมาณ 30 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเต็มขวด แล้วเลี้ยงต่อให้เชื้อเจริญเติบโตเต็มที่อีกประมาณ 10 วัน จึงนำไปเปิดดอกที่อุณหภูมิ 15-20 ซ. ความชื้น 80-90% หลังจากเปิดขวดได้ประมาณ 15 วัน ก็จะเก็บเห็ดได้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 100-150 กรัมต่อขวด โดยทั่วไปจะทำการเก็บเห็ดเพียงรุ่นเดียว จะเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วทิ้งเพราะเห็ดรุ่นที่สองคุณภาพไม่ดี มีขนาดเล็กและน้ำหนักน้อย ได้ผลไม่คุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เสียไป
ส่วนเมนูที่ได้รับความนิยม เห็ดย่าง เห็ดผัดพริกไทดำ เห็ดผัดน้ำมัน เห็ดเปาฮือน้ำแดง เห็ดชุบแป้งทอด เป็นต้น แม้ว่ากำลังการผลิตจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่การเพิ่มกำลังการผลิต ก็คงต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง เพราะการเพิ่มกำลังการผลิตต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการที่รายอื่นๆ จะหันมาผลิต ก็คงจะต้องคิดหนัก เพราะต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยยังไม่สามารถหาวิธีการเพาะเลี้ยงในระบบเปิดได้ ถ้าเลี้ยงในระบบเปิดได้ คงจะมีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย และราคาก็จะถูกลง
ผู้สนใจต้องการความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเห็ด ติดต่อไปได้ที่ อาจารย์สำเภา ภัทรเกษวิทย์ อดีตผู้อำนวยการโครงการเห็ดของ วว. โทร. 0-1867-6410 หรือ บริษัท ปิยะพร อินเตอร์เอโกรโลยี โทร. 0-9778-6519
ขอขอบคุณ แหล่งที่มา: http://www.manager.co.th
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
เคยไปดูการเพาะเห็ดเข็มทอง ( Enokitake/อิโนกิทาเกะ )
ตอบลบจำได้ว่าประมาณ 15 ปีมาแล้ว ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะของ อ.ดีพร้อม ฟาร์มเห็ดสหฟาร์ม/แม่โจ้ เห็นระบบการผลิตแล้ว คล้ายกับการผลิตเห็ดออเรนจิ ดูแล้วเกินความสามารถของเกษตรกรเพาะเห็ดในระบบเปิดทั่วไป จำได้ว่าผู้บรรยายบอกว่าลงทุนไปครั้งแรก 600 ล้านบาท ผลิตเห็ดเข็มทองได้วันละประมาณ 1000 กก.**รายงานโดย ฟาร์มเห็ดเพชรพิจิตร www.phetphichit.com โทร.081-886-9920**
เรียนรู้การเพาะเห็ด
ตอบลบผมอยากได้ความรู้การเพาะเห็ดออรินจิครับ การทำโรงเพาะต้องมีวัสดุอะไร อุปกรณ์ทีเพาะเห็ดใข้อะไร ขอรายละเอียดด้วยครับ ผมอยากมีความรู้ก่อนจะลงมือทำอะไรครับ
ตอบลบ