ดอกเห็ด เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีการซื้อ-ขายกัน ทั้งในตลาดบนและตลาดล่าง ซึ่งกลยุทธ์การแข่งขันในการทำการตลาดในโลกปัจจุบัน ซึ่งมีการกล่าวถึงกันมากที่สุดก็คือ “คุณภาพและเทคโนโลยี”
“คุณภาพ” ของดอกเห็ดเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดการเรื่องราคาและจำนวนหรือปริมาณการซื้อขาย ความสม่ำเสมอของจำนวนผลผลิตเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ตลาดมีความต้องการ ฟาร์มใดมีดอกเห็ดดี สวย ไม่เป็นโรค ไม่มีแมลงกิน ความชื้นไม่สูง สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน มีจำนวนผลผลิตสม่ำเสมอ สามารถส่งดอกเห็ดได้เป็นประจำ ฟาร์มนั้นก็จะได้ราคาดอกเห็ดที่ดีกว่าฟาร์มอื่น
“เทคโนโลยี” เป็นตัวกำหนด เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดดอกเห็ดที่มีคุณภาพและจำนวนดอกเห็ดที่มีความสม่ำเสมอ อีกทั้งเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการเพาะเห็ดได้กำไรมากขึ้น เพราะเหตุนี้จึงมีแนวคิดว่า “นักเพาะเห็ดยุคใหม่ควรใส่ใจเทคโนโลยี”
การเพาะเห็ดในประเทศไทย เรามีผู้เพาะเห็ดอยู่ 2 ประเภท
ประเภทแรกเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริม โดยมากจะเพาะเห็ดตามฤดูกาล เช่น หลังเก็บเกี่ยวข้าว ได้ฟางข้าวมาก็จะไปซื้อเชื้อเห็ดแล้วมาเพาะเห็ด มักทำในลักษณะเป็นกอง กองเตี้ยบ้าง กองกลางบ้าง หรือบางท่านมีอาชีพหลักอยู่แล้วต้องการเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริม โดยไปซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอกข้างบ้าน ทำโรงเรือนบ้าง ไม่ทำบ้าง ได้ดอกเห็ดก็นำไปขายที่ทำงานหรือถ้าได้มากหน่อยก็นำไปขายที่ตลาด
นักเพาะเห็ดประเภทที่ 2 ก็คือ นักเพาะเห็ดที่เพาะเห็ดเป็นอาชีพ มีการวางแผน มีการลงทุนมากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังทรัพย์ และความต้องการผลผลิต การเพาะเห็ดฟางแบบเป็นกอง มีหลายท่านทำเป็นอาชีพหลักมีรายได้สม่ำเสมอ เป็นการลงทุนการเพาะเห็ดที่ใช้เงินลงทุนไม่มากและให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทีเดียว นักเพาะเห็ดบางท่านหลายฟาร์มที่ลงทุนเพาะเห็ดมากขึ้น มีการสร้างโรงเรือน มีเตานึ่ง มีเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการเพาะเห็ด ในประเทศไทยเรา มีฟาร์มเห็ดที่ทำเป็นอาชีพหลักค่อนข้างมาก มีการลงทุนตั้งแต่ระดับหมื่นจนถึงระดับร้อยล้านบาท
นักเพาะเห็ดประเภทไหนที่ควรใส่ใจเทคโนโลยี น่าจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักเพาะเห็ดสมัครเล่น เพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก ทั้งนี้ เพราะว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งใกล้ตัวและราคาไม่แพงอย่างที่คิด ถ้าเราเลือกใช้เป็นและถูกต้อง
เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้วัดค่าทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเราได้ในการใช้เทคโนโลยี บางท่านอาศัยประสบการณ์ อาศัยความรู้สึกเป็นตัวกำหนด ก็ไม่ผิดถ้าผู้เพาะเห็ดท่านนั้นมีประสบการณ์สูง เพาะเห็ดมานาน แต่ถ้าท่านไม่อยู่ใครจะดูแลฟาร์มเห็ดแทนท่านได้ ขอยกตัวอย่างซัก 1 ตัวอย่าง ให้ท่านพิจารณาคือ สมมติว่า ท่านมีโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าซึ่งเห็ดชนิดนี้ชอบอุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส ท่านเข้าไปในโรงเรือนเพาะเห็ดที่มีอุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียส กรณีที่ 1 หลังจากที่ท่านนั่งรถติดแอร์กลับจากตลาด ซึ่งเย็นสบายอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หรือกรณีที่ 2 หลังจากที่ท่านเดินตากแดดร้อนๆ จากชายทุ่งอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ในกรณีที่ 1 ท่านจะรู้สึกร้อนเมื่อเข้าโรงเรือน ในขณะเดียวกัน ในกรณีที่ 2 ท่านจะรู้สึกเย็นเมื่อท่านเข้าไปในโรงเรือน ทั้ง ๆ ที่ภายในโรงเรือนมีอุณหภูมิเดียวกัน คือ 31 องศาเซลเซียส แต่ถ้าท่านมีเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิติดอยู่ในโรงเรือน ราคาประมาณ 40-60 บาท ท่านก็จะทราบอุณหภูมิแท้จริงในโรงเรือน
ถ้าเราเริ่มจากโรงเปิดดอก การเพาะเห็ดโดยใช้ขี้เลื่อยในถุงพลาสติค เทคโนโลยีช่วยอะไรเราได้บ้าง ในการที่จะทำให้ได้ดอกเห็ดที่สมบูรณ์ ได้ดอกเห็ดจำนวนมาก ผลผลิตรวมสูง และใช้เวลาสั้นที่สุด ข้อสำคัญก็คือ จะทำให้ต้นทุนในการเปิดดอกเห็ดต่อหน่วยต่ำที่สุด
เราทราบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดดอกเห็ดอย่างน้อย 4 ปัจจัย คือ ปริมาณแสง อุณหภูมิที่เหมาะสม ความชื้นและปริมาณก๊าซออกซิเจน ถ้าเราสามารถควบคุมปัจจัยทั้ง 4 นี้ได้ เท่าที่เห็ดแต่ละชนิดต้องการ ความแน่นอนในการที่เราจะได้ดอกเห็ดก็จะมีมากขึ้น ดอกเห็ดออกพร้อมกัน การบ่มเส้นใยในช่วงพักสั้นลง ทำให้ประหยัดเวลา
ปริมาณแสง เป็นตัวกระตุ้นทำให้เห็ดออกดอกและกำหนดความยาวสั้นของก้านดอกเห็ด เราสามารถใช้ไฟนีออนเสริมได้ถ้าแสงไม่พอ เราสามารถตรวจวัดความเข้มของแสงได้ด้วยการดูลายมือตัวเองว่าเห็นชัดหรือไม่ชัด ถ้าจะให้แน่นอนก็ใช้เครื่องวัดแสง วัดทุกจุดที่วางก้อนเห็ด เครื่องวัดแสงปัจจุบันผลิตในประเทศจีนราคา 3,000 – 5,000 บาท ก็สามารถใช้ได้
อุณหภูมิและความชื้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเปิดดอก อุณหภูมิในโรงเรือนสามารถแก้ไขได้โดยเจาะช่อง เปิดหรือปิดช่องระบายอากาศหรือใช้เครื่องทำความร้อน เครื่องทำความเย็น ความชื้นสามารถเพิ่มได้โดยการให้น้ำ ยิ่งถ้าให้ความชื้นในลักษณะพ่นหมอก ดอกเห็ดก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งการให้ความชื้นแบบพ่นหมอก สามารถเลือกใช้ได้หลายวิธีคือ ใช้แรงดัน ใช้การเหวี่ยง ใช้อัลตร้าโซนิค โรงเรือนเพาะเห็ดทุกโรงเรือนควรมีเครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งราคาถูกมาก ถ้าเราใช้เทอร์โมมิเตอร์ 2 อัน อันละ 40-60 บาท ทำเป็นกระเปาะเปียกและกระเปาะแห้ง ถ้ามีเงินมากจะซื้อแบบดิจิตอล ก็จะอ่านง่ายและแน่นอนขึ้น
ปริมาณก๊าซออกซิเจนในโรงเรือน เป็นสิ่งที่มองข้ามกันมาก บางโรงเรือนเปิดดอกเห็ดเข้าไปแล้วอึดอัดมาก คนยังอยู่ไม่ได้แล้วเห็ดจะออกดอกได้อย่างไร ปริมาณออกซิเจนสัมพันธ์กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์สูง เห็ดก็มีการแบ่งตัวของเส้นใย ไม่ออกดอก หรือถ้าออกดอกแล้วดอกเห็ดจะมีลักษณะเป็นหูดหรือหนังคางคก ถ้าปริมาณก๊าซออกซิเจนมีเพียงพอ ดอกเห็ดจะสวยสมบูรณ์ขึ้น เราสามารถวัดปริมาณก๊าซออกซิเจนโดยอาศัยความรู้สึกในการหายใจว่าไม่อึดอัด หรือใช้เครื่องวัดหาปริมาณออกซิเจน และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ราคาเครื่องวัดของจีนประมาณ 6,000-8,000 บาท
นอกเหนือจากปัจจัยทั้ง 4 แล้ว ในโรงเรือนเปิดดอกควรป้องกันแมลงได้ สิ่งที่จะทำให้เรารู้ว่ามีแมลงอยู่ในโรงเรือนเห็ดหรือไม่ เป็นแมลงชนิดใด อุปกรณ์ที่ใช้ถูกที่สุดก็คือ กาวเหนียวดักแมลง ต้นทุนถูกมาก ราคา 1 บาท ต่อหนึ่งจุด เท่านั้น ไรศัตรูเห็ดที่ทำลายก้อนเชื้อเห็ดเป็นจำนวนมาก ถ้ามีแว่นขยายส่องพระ ขยาย 10-20 เท่า อันละประมาณ 200 บาท ก็จะสามารถส่องดูตัวไรเห็นได้
ข้อมูลในการเปิดดอกเห็ดแต่ละชนิด นักวิจัยได้ทำและเขียนสรุปไว้ค่อนข้างจะแน่นอน ถ้าเราใช้เทคโนโลยีทำให้ได้ตามข้อมูลนั้น โอกาสที่เราจะได้ดอกเห็ดก็จะมีมาก อุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าต่างๆ ในโรงเรือนราคาไม่แพงนักเมื่อเทียบกับราคาก้อนเชื้อเห็ดในโรงเรือน เครื่องวัดค่าที่ติดตั้งในโรงเรือนแต่ละโรงเรือน มีเครื่องวัดอุณหภูมิ ความชื้น และกาวดักแมลง ราคาไม่เกิน 200 บาท ต่อโรงเรือน อุปกรณ์วัดค่าแสงและปริมาณออกซิเจน สามารถเวียนใช้ได้หลายโรงเรือน
จากโรงเปิดดอกมาถึงโรงทำก้อนเชื้อเห็ด ปัจจุบันเราทำก้อนเชื้อเห็ดจากขี้เลื่อย แล้วมีการใส่อาหารเสริมกันมาก บางท่านยังไม่รู้เลยว่าใส่ไปเพื่ออะไร ได้ยินได้ฟังมาว่าใส่แล้วดีก็ทำตาม ทำให้ต้นทุนสูงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียมากด้วย
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการทำก้อนเชื้อเห็ดก็คือ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ความชื้น ความแน่นของก้อนเชื้อ น้ำหนักของก้อนเชื้อ ปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสมกับเห็ดแต่ละชนิด การนึ่งฆ่าเชื้อ การเขี่ยเชื้อและการบ่มก้อนเชื้อ ทุกปัจจัยมีความสำคัญเท่าๆ กัน ถ้ามีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่สมบูรณ์ ก้อนเชื้อเห็ดก็จะไม่สมบูรณ์หรือเสีย ยิ่งเสียมากต้นทุนการผลิตก็จะมากตาม
เทคโนโลยีในการผลิตก้อนเชื้อเห็ดมีการพัฒนามากในต่างประเทศ แต่ประเทศเรายังมีการพัฒนาน้อยมาก ทำแบบเดิมมาเหมือนเมื่อ 20-30 ปี ที่แล้ว ทำให้เกิดการหมุนเวียนของคนเพาะเห็ดคือ มีคนใหม่เข้ามาเพาะเห็ดสัก 2-3 ปี แล้วก็เลิกเพราะขาดทุน แล้วก็จะมีคนใหม่เข้ามาเพาะเห็ดใหม่ หมุนเวียนอย่างนี้ตลอด 20-30 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่ฟาร์มเห็ดที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้มีกำไร มีความมั่นใจ มีการขยายฟาร์มมากขึ้น เพราะรู้ว่าลงทุนแล้วจะได้กำไร
สำหรับนักเพาะเห็ดบ้านเรา ฟาร์มเล็กฟาร์มใหญ่ควรคำนึงถึงเทคโนโลยีให้มาก บางฟาร์มทำมาหลายปี ไม่เคยมีการวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำที่ใช้และที่ก้อนเชื้อเห็ดเลย ทั้งๆ ที่อุปกรณ์ที่ใช้วัดราคาถูกมาก จะใช้กระดาษลิทมัสราคา 30-50 บาท ต่อม้วน หรือใช้ KU kid ราคา 300-500 บาท ตรวจได้หลายสิบครั้ง หรือจะซื้อเครื่องมือดิจิตอลตรวจวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างและความชื้นราคาประมาณ 2,500-3,000 บาท ใช้ได้ตลอดหลายปี ก็ไม่มีใช้ แต่ซื้อขี้เลื่อยราคารถละ 20,000 บาท หรือปล่อยให้มีก้อนเสียเป็นพันถุงเสียได้ ถ้าไม่ซื้อไว้ใช้ก็นำน้ำหรือก้อนเชื้อเห็ดไปที่สำนักงานพัฒนาที่ดินตรวจให้ ก็สามารถทำได้ โดยให้ตรวจหาปริมาณธาตุอาหาร Ca, Mg, C, N, P, K, Fe ด้วยก็จะดี จะทำให้เรารู้ว่า เราควรจะใช้อาหารเสริมอะไร และใส่จำนวนเท่าไร ใส่มากไป ไม่ใช่ว่าจะดี ทำให้สิ้นเปลือง และทำให้มีการเกิดการปนเปื้อนสูงขึ้นได้
สัดส่วนของคาร์บอนกับไนโตรเจนก็มีส่วนที่สำคัญในด้านผลผลิต เทคโนโลยีในส่วนนี้จะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการค้นคว้าวิจัยมากขึ้น
เทคโนโลยีในการใช้พลังงานนึ่งเห็ด การเขี่ยเชื้อ การทำ Hygiene และการจัดการเพื่อลดการปนเปื้อนให้น้อยลง มีการคิดกันมาก แต่ขาดการส่งเสริมให้มีการนำไปใช้จริง นักเพาะเห็ดต้องเรียนรู้ ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง
สำหรับเกษตรกรบ้านเรา สิ่งที่ควรทำง่ายๆ ก็คือ ควรรู้ว่าอุณหภูมิในก้อนเชื้อเห็ดขณะนึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเท่าไร โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์ชนิดคงค่าสูงสุดไว้ได้ ขนาด 200 องศาเซลเซียส แล้วนำลงไปเสียบไว้ในก้อนเชื้อเห็ดขณะที่นึ่ง จะทำให้รู้ว่าอุณหภูมิในขณะนึ่งก้อนเชื้อเห็ด ภายในก้อนเชื้อมีอุณหภูมิสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส หรือไม่ เทอร์โมมิเตอร์ที่ว่าราคาไม่แพงมาก ใช้ทดสอบหลายจุดในเตานึ่ง จะทำให้ทราบได้ว่าจุดไหนอุณหภูมิไม่ถึง จะได้ลดการสูญเสีย
การวัดจำนวนและชนิดของจุลินทรีย์ในห้องเขี่ยเชื้อก็มีความจำเป็น โดยใช้อาหารวุ้น PDA ธรรมดา เปิดทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที แล้วคอยเช็คดูเป็นสิ่งที่น่าจะทำ เทคโนโลยีในการเขี่ยเชื้อและทำเชื้อเห็ดยิ่งก้าวล้ำไปมาก นักเพาะเห็ดบ้านเราที่นิยมเก็บเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดมาทำเชื้อเอง ควรที่จะมีการตรวจสอบหาไวรัสบ้าง เพราะว่าขณะนี้ไวรัสได้มีการระบาดค่อนข้างมาก ทำให้ผลผลิตลดลงมาก
คำว่าคุณภาพและเทคโนโลยีจึงเป็นของคู่กัน เทคโนโลยีเป็นตัวทำให้ได้คุณภาพ เทคโนโลยีเป็นตัวที่ทำให้ลดต้นทุนการผลิต นักเพาะเห็ดยุคใหม่จึงควรใส่ใจเทคโนโลยีให้มาก อย่ารังเกียจเทคโนโลยี อย่าหนี จงวิ่งเข้าหาและเลือกนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ตามความเหมาะสม โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะมีสูง
......................................................................................................................................................
ส่วนประกอบต่างๆของดอกเห็ดเริ่มจากสปอร์ของดอกปลิวไปตกบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสปอร์ก็จะเจริญเติบโตกลายเป็นเส้นใย เมื่อเส้นใยอัดตัวกันเข้ากลายเป็นดอกเห็ด ซึ่งประกอบ ไปด้วย
1. หมวกเห็ด ส่วนปลายสุดของดอกเจริญขึ้นไปในอากาศ
2. ครีบ อยู่ด้านล่างของหมวกเห็ด
3. ก้านดอก มีขนาดใหญ่และยาวแตกต่างกัน
4. วงแหวน เป็นเยื่อบางๆยึดก้านดอกและขอบหมวกของเห็ด
5. เปลือกหุ้มโคน อาจมีเนื้อหนาหรือบางอยู่ชั้นนอกสุดที่หุ้มดอกเห็ดไว้
6. สปอร์ เกิดจากการผสมพันธุ์ทางเพศ แล้วแบ่งตัวกลายเป็นสปอร์ปลิวหรือลอยไปในอากาศ
ส่วนประกอบต่างๆของเห็ด
ส่วนประกอบของเห็ดที่โตเต็มที่ มีส่วนประกอบคือ - หมวกเห็ด (cap หรือ pilleus) เป็นส่วนของดอกเห็ดที่อยู่ด้านบนสุด มีรูปร่างต่างๆ กัน เช่น โค้งนูน รูปกรวย รูปปากแตร รูประฆัง เป็นต้น มีส่วนประกอบบนหมวกต่างกัน เช่น ผิวเรียบ ขรุขระ มีขนเกล็ด มีสีแตกต่างกัน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
- ครีบหรือกลีบ (gill หรือ Lamella) เป็นซี่ๆคล้ายเหงือกปลาอยู่ใต้หมวกเห็ด ครีบนี้แผ่ออกจากรอบก้านดอกที่ติดกับหมวกเห็ดด้านในยาวมาถึงขอบหมวก ซึ่งเห็ดบางชนิดจะไม่มีครีบ แต่มีลักษณะอื่นแทน เช่นเป็นรู (pores) หรือเป็นสัน (ridges) ซึ่งครีบเป็นที่เกิดของสปอร์
- วงแหวน (ring or annulus) เป็นส่วนที่เกดจากเยื่อบางๆ ที่ยึดขอบหมวกเห็ดกับก้านดอกในช่วงที่ดอกเห็ดยังไม่บาน เมื่อดอกเห็ดบานจากขาดออก แต่ยังมีส่วนที่ติดกับก้านดอกคล้ายกับวงแหวน
- ก้านดอก (stalk หรือ stipe)เป็นส่วนหนึ่งที่ปลายข้างหนึ่งติดกับหมวกเห็ด ส่วนอีกด้านติดกับเส้นใยเห็ด เป็นท่อขนาดสั้น ยาว เล็ก ใหญ่แตกต่างตามชนิดของเห็ด
- เปลือกหุ้ม (Voiva , outer veil, หรือ universal veil) เป็นเนื้อเยื่อที่หุ้มดอกเห็ดไว้ในช่วงที่เป็นดอกตูม เมื่อดอกเห็ดบานจะเห็นเปลือกหุ้มอยู่ที่โคนก้าน
- เนื้อเห็ด (context) เนื้อภายในหมวกหรือก้าน อาจจะลื่น เหนียว นุ่ม เปราะ เป็นเส้นใยเรียกว่าเส้นใยเห็ด หรือ ไฮฟา มีลักษณะเป็นเส้นใยหยาบๆสีขาวนวลรวมตัวกันอยู่ที่โคนก้านดอกซึ่งเห็ดบางชนิดไม่สามารถเห็นเส้นใยเห็ดได้ด้วยตาเปล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น