เพาะเห็ดนางรม
การเพาะเห็ดนางรมด้วยวิธีการแผนใหม่ที่ไม่ต้องนึ่งฆ่าเชื้อ
วัสดุและอุปกรณ์
• ฟางแห้ง ฟางข้าวนวดหรือตอซัง แต่ตอซังจะมีราคาแพงกว่า ควรใช้ฟางข้าวนวดและไม่ต้องตัดหรือสับให้ละเอียด
จะเป็นฟางข้าวจ้าวหรือข้าวเหนียวก็ได้ จะเป็นฟางใหม่หรือฟางเก่าค้างปีก็ใช้ได้ ถ้ายังอยู่ในสภาพที่ไม่เน่าสลาย
• ถุงพลาสติก ชนิดถึงเย็นขนาด 10" x 15" หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย เช่น 12" x 17"
• ก้อนเชื้อเห็ดนางรมขาม หรือ นางรมฮังการี ที่ใช้เปิดดอก ซึ่งทำจากขี้เลื้อย จะหาซื้อได้ตามฟาร์ม ที่เพาะเห็ดถุงทั่วไป เลือกก้อนและเชื้อที่เห็ดเดินเต็มที่ พร้อมจะออกดอก
• คอขวด และยางรัด
วิธีการเพาะ
• แช่ฟางในน้ำอาจจะเป็นน้ำบ่อ น้ำคลอง หรือแช่ในถุงน้ำประปากก็ได้ แช่นานอย่างน้อย 4 ชม. ถ้าต้องการใช้ทันทีต้องใช้วิธีแช่ฟางทีละน้อยพร้อมย่ำไปด้วย ใช้เวลาแช่ประมาณ 30 นาที นำฟางออกจากน้ำกองไว้ให้ฟางพอหมาดๆ
ถ้าต้องการเร็วต้องบิดน้ำออกจากฟางพอให้ฟางหมด
• อัดฟางใส่ถุงพลาสติกสลับกับการโรยเชื้อจากก้อนเชื้อเป็นชั้นๆ 3 ชั้น ก้อนเชื้อหมัก 1 กก. อาจทำถุงฟาง
ได้ประมาณ 6-7 ถุง
• ใส่คอขาด รัดยาง อุดด้วยฟางเปียกม้วนๆ หรือสำลีอย่างถูก
• นำถุงที่ทำเสร็จแล้วไปบ่มให้เชื้อเดินไว้ในที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทได้ดี เช่น ใต้ถุนบ้านหรือในโรงบ่ม ประมาณ 20วันในกรณีถุงขนาด 10"x16" เชื้อจะเดินเต็มถุงพร้อมที่จะนำไปเปิดดอก
• การเปิดดอก ควรเปิดในโรงเรือนที่มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระหว่าง 65-75 เปอร์เซ็นต์ อาจใช้วิธี
กรีดข้างถุงด้วยใบมีด 2 ด้านๆ ละ 2 จุดโดยเอาคอขวดออกใช้ยางรัดปากถุงป้องกันน้ำเข้าหรือเปิดจุกให้ดอกเห็ดออกทาง ปากคอขวดก็ได้ จากการทดลองวิธีกรีดข้างผลผลิตสูงกว่า แต่ถ้าใช้วิธีเปิดส่วนบนหรือเอาถุงพลาสติกออกทั้งหมด จะได้ผลผลิตน้อยกว่าเนื่องจากฟางบริเวณผิวจะแห้งเร็ว
การดูแลรักษา
• รดน้ำที่พื้นและพ่นฝอยบนถุงเห็ดและรอบๆบริเวณที่วางถุงเห็ดพยายามรักษาความชื้นสัมพันธ์ในอากาศให้อยู่
ระหว่าง 65-75 เปอร์เซ็นต์ ถ้าโรงเรือนเก็บความชื้นได้ดีรดน้ำเช้า - เย็น ก็น่าจะพอ
• ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาอุปสรรคของการเพาะแบบใหม่นี้ทั้งโรค แมลง และไร แต่ทางที่ดีการดูแลรักษาความสะอาด
ในโรงเรือนเปิดดอก ในโรงบ่ม และอาณาบริเวณฟาร์มเห็ดทั้งหมดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว
การเก็บผลผลิต
ควรเก็บดอกเห็ดในขณะที่บานพอประมาณไม่แก่เกินไป ภาชนะที่บรรจุดอกเห็ดควรมีลักษณะเป็นชั้นๆ วางดอกเห็ดซ้อนกัน 2 ชั้นก็พอ อย่าซ้อนกันมากจะทำให้ดอกเห็ดขาดความสมบูรณ์ อาจจะซ้ำ ฉีกขาดทำให้คุณภาพที่จะส่งตลาดลดลง การดูแลรักษาพิถีพิถันดอกเห็ดหลังเก็บเกี่ยวเป็นสิ่งที่สำคัญส่งผลให้คุณภาพดอกและราคาสูงขึ้นได้ ถ้าเกษตรกรรายใดมีความสามารถที่จะบรรจุดอกเห็ดในกล่องโฟมหรือกล่องกระดาษเพื่อส่งขายในตลาดก็จะยิ่งทำให้สามารถรักษาคุณภาพของดอกเห็ดไว้ได้สดนานขึ้น เห็ดที่ถูกบรรจุลงกล่องเรียบร้อยแล้วก่อนนำสู่ตลาดควรเก็บรักษาไว้ในที่เย็นถ้าเก็บไว้ในห้องเย็นได้ยิ่งดี จะช่วยรักษาความสดของดอกเห็ดได้นาน
ลักษณะโรงเรือนเพาะเห็ด
• โรงบ่มถุงเห็ด สภาพในโรงบ่มถุงเห็ดควรจะมีอากาศถ่ายเทสะดวก เย็นสบายฉะนั้นโรงบ่มควรจะมีความสูง ไม่ต่ำกว่า 5 เมตรวัดจากปลายจั่ว มีหลังคาทำด้ายจากหรือหญ้า ชายคาควรจะต่ำกว่าปกติสักเล็กน้อยเพื่อกันแดด และฝน ข้างฝาปล่อยโล่งภายในทำเป็นชั้นๆ สำหรับวางถุงเห็ด ถ้าโรงเรือนอยู่ในบริเวณที่มีลมแรง ควรปลูก ต้นกล้วยกันลมไว้รอบๆโรงสลับพันปลาสัก 3 ชั้น นอกจากจะใช้บังลมแล้วยังได้กล้วย เป็นผลพลอยได้อีกด้วย
• โรงเปิดดอก ควรเป็นโรงที่เก็บความชื้นได้ดี อาจทำเป็นโรงจากหรือหญ้าคาก็ได้พื้นควรใส่ทรายหนาประมาณ 6"
เพื่อเก็บความชื้น ประตูทางเข้าออกควรมี 2 ด้าน ด้านหน้าและหลัง และมีความกว้างอยางน้อย 1 เมตร เพื่อสะดวกในการทำงานนอกจากโรงเปิดดอกจะต้องเก็บรักษาความชื้นได้ดีแล้วยังต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี ฉะนั้นควรทำช่องระบายอากาศไว้โดยรอบถ้าพื้นที่ปลูกโรงเปิดดอกมีลมพัดแรงแนะนำให้ปลูกต้นกล้วยไว้โดยรอบโรงเรือนอย่างน้อย 3 ชั้นโดยปลูกสลับฟันปลาต้นกล้วยนอกจากจะลดความแรงลม แล้วยังช่วยเป็นร่มเงา เก็บความชุ่มชื้นโดยต้นกล้วยจะดูดซับน้ำส่วนเกินที่รดในโรงเห็ดและผลของกล้วยยังเป็นสิ่งที่มีราคาไม่แพ้เห็ดเลย
สำหรับการเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ดนางรม
ทำได้ 4 วิธี คือ
1. การเปิดปากถุงโดยการม้วนปากถุงลง โดยการดึงคอขวดออก พร้อมกับม้วนปากถุงลงไปจนถึงก้อนเชื้อ แล้วนำไปวางบนชั้นภายในโรงเรือน ข้อเสียของการเปิดถุงโดยวิธีนี้คือ โอกาสที่น้ำจะขังในถุงและทำให้ก้อนเชื้อเสียมีมาก
2. การเปิดปากถุงโดยใช้มีดปาดปากถุงบริเวณคอขวดออก แล้วนำไปวางบนชั้นเพาะเห็ด วิธีนี้มีข้อเสียคล้ายกับวิธีแรก
3. การกรีดปากถุงโดยใช้มีดคมๆ กรีดข้างถุงเป็น 4 แนว แล้วนำไปวางตั้งหรือแขวนในแนวตั้ง ข้อเสีย คือ เปลืองเนื้อที่ในการวางก้อนเชื้อ
4. ดึงจุกสำลีออกแล้วนำก้อนเชื้อมาวางเรียงซ้อนกันภายในโรงเรือน ให้เห็ดเจริญออกมาทางปากถุงทางเดียว เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากเพราะประหยัดเนื้อที่ภายในโรงเรือนและน้ำไม่ขังในก้อนเชื้อ ดูรายละเอียด การเปิดดอกเห็ดนางรม-ฮังการี
ปัญหาที่พบในการเพาะเห็ดนางรม
1. เส้นใยไม่เดินลงถุงก้อนขี้เลื่อย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุ คือ
-หัวเชื้อเห็ดเป็นเชื้ออ่อน หรือเชื้อเห็ดนั้นผ่านการแต่งเชื้อมาหลายครั้งแล้ว ทำให้เส้นใยอ่อนแอ
- หัวเชื้อเห็ดมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปลอมปน และเจริญแข่งกับเส้นใยเห็ด
- วัสดุที่ใช้เพาะมีสารเคมีที่เป็น อันตรายต่อเห็ดโดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อรา ผู้เพาะควรเลือกวัสดุเพาะที่ปราศจาสารเคมีดังกล่าว
- สภาพความเป็นกรด-ด่าง(pH) ควรปรับให้อยู่ระหว่าง 6.5-6.8 จะช่วยให้เส้นใยเห็ดนางรมเจริญดีขึ้น
- ส่วนผสมมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เส้นใยเห็ดชะงักการเจริญเติบโต ในขณะที่สภาพดังกล่าวจะเหมาะต่อการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย
2. เส้นใยเดินบางมาก และเมื่อนำไปเพาะจะไม่ค่อยเกิดดอกหรือให้ผลผลิตน้อยมาก อาจมีสาเหตุจาก
- วัสดุที่ใช้เพาะสลายตัวเกือบหมดแล้ว ทำให้อาหารเหลืออยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย หรือใส่อาหารเสริมน้อยเกินไป ดังนั้นจึงควรใส่อาหารเสริมในอัตราส่วนที่เหมาะสม
- การนึ่งฆ่าเชื้อไม่ดีพอ ทำให้จุลินทรีย์อื่นๆเจริญเติบโตแข่งกับเห็ดได้ ดังนั้นการนึ่งก้อนเชื้อควรใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด
3. เส้นใยเห็ดเดินแล้วหยุด อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ถุงก้อนเชื้อมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญได้ดี แล้วเชื้อเห็ดไม่สามารถเจริญเติบโตได้
- เชื้อเห็ดอ่อนแอ เมื่อเจริญได้ระยะหนึ่งแล้วก็ชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นควรเลือกเชื้อที่แข็งแรง
4. เห็ดออกดอกช้าหลังจากเปิดถุงแล้ว อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- เกิดจากการเปิดปากถุงเร็วเกินไป หลังจากเส้นใยเดินเต็มแล้ว ควรปล่อยให้เส้นใยรัดตัวและมีการสะสมอาหารก่อนเปิดถุงประมาณ 8-10 วัน
- การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนไม่ดี ทำให้มีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง
- อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงหรือต่ำเกินไปหรือความชื้นไม่เพียงพอทำให้การพัฒนาของเส้นใยไปเป็นดอกเห็ดช้า
5. ดอกเห็ดไม่พัฒนาเจริญเป็นดอกเห็ด ในการเพาะเห็ดบางครั้งมีดอกเห็ด เจริญเป็นดอกเล็กๆบนก้อนเชื้อเต็มไปหมด ดอกเห็ดพวกนี้มีขนาดเล็กและไม่เจริญ ต่อไปแต่ดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด
เกิดจาก
- หัวเชื้อเห็ดอ่อนแอทำให้ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์
-การเปิดปากถุงกว้างเกินไปทำให้เส้นใยเจริญไปเป็น ดอกเห็ดจำนวนมากและ อาหารภายในก้อนเชื้อไม่เพียงพอ ทำให้ดอกที่งอกออกมาแคระแกร็น และแห้งดังนั้นการเปิดปากถุงไม่ควรเปิดกว้างมากนัก
- ความชื้นไม่เพียงพอทำให้ดอกที่กำลังเติบโตแห้งได้
- รดน้ำมากเกินไป และรดไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำขังในถุงพลาสติก ทำให้เห็ดภายในถุงพลาสติกเน่าเสียได้
- เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายก้อนเชื้อหลังเปิดถุง เนื่องจากโรงเรือนสกปรก
- อาจมีแมลงเข้าไปกัดและทำลายก้อนเชื้อ
ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการเกษตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น